วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ใบความรู้ที่3


ระบบเครือข่าย

1.  ระบบเครือข่ายคืออะไร
          ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องใช้ประจำสำนักงาน  เริ่มจากการใช้ในงานพิมพ์เอกสาร เก็บข้อมูล เป็นเครื่องที่ใช้ทำงานคนเดียว เมื่อสำนักงานหรือองค์กรนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มมีการใช้งานคอมพิวเตอร์หลายรูปแบบ บางครั้งอาจมีการทำงานเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้  บางลักษณะงานที่ต้องใช้ข้อมูลร่วมกัน ถ้าเจ้าหน้าที่แต่ละคนเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องของตนเอง ความซ้ำซ้อนของข้อมูลย่อมเกิดขึ้น ทำให้เสียเวลามากขึ้น บางครั้งข้อมูลไม่ตรงกันจึงได้มีการศึกษาหาวิธีเพื่อเป็นการเชื่อมโยงหรือต่อระบบเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้นเข้าด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลและสะดวกในการใช้งาน การเชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องสามารถทำงานภายใต้พื้นฐานเดียวกัน  เช่น
1)     ข้อมูลที่ส่งและรับภายในเครือข่ายจะต้องถูกต้องและไม่สูญหาย
2)     ข้อมูลที่ถูกส่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายใดๆ  เครือข่ายนั้นจะต้องรู้ว่าข้อมูลนั้นๆ จะถูกส่งไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องไหน
3)     เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในระบบเครือข่ายจะต้องสามารถแยกแยะได้
4)     จะต้องมีมาตรฐานในการตั้งชื่อและบ่งชี้ส่วนของเครือข่ายชัดเจน
กฎเกณฑ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  จะเป็นข้อกำหนดหลักให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ต้อง
ยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด  ตัวอย่างของเครือข่ายที่ง่ายที่สุด คือการเชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องเข้าด้วยกัน โดยอาศัยสายเคเบิลเชื่อมระหว่างพอร์ตของเครื่องพิมพ์ เพื่อการรับส่งแฟ้มข้อมูลระหว่างกัน สำหรับตัวอย่างของเครือข่ายที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น เครือข่ายของระบบธนาคารเป็นต้น

          องค์ประกอบของการส่งข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ ผู้ส่ง  (Sender) ผู้รับ (Receiver)  และตัวกลางในการส่งสัญญาณ ซึ่งทำหน้าที่ในการนำข้อมูลจากข้อมูลจากผู้ส่งไปให้ถึงผู้รับ
2.  ทำไมเราต้องสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 
เหตุผลที่ใช้อธิบายถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
มีดังนี้คือ
1)     เครือข่ายคอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานร่วมกัน
2)     เครือข่ายสามารถให้ข้อมูลได้จำนวนมากในเวลาเดียวกัน
3)     เครือข่ายช่วยให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้หลากหลาย
4)     เก็บข้อมูลที่สำคัญในศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง
5)     เพื่อลดความซ้ำซ้อนของอุปกรณ์หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกันได้
6)     มีความรวดเร็วในการสื่อสารข้อมูล

ซึ่งเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดแนวความคิดว่า ถ้าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งาน
ที่บ้านและสำนักงาน  หากต้องการทำงานร่วมกันระหว่างที่บ้านและสำนักงาน เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน เราต้องการทำงานร่วมกันระหว่างที่บ้านและสำนักงาน เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน  เราต้องทำการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าหากันโดยอาศัยอุปกรณ์พิเศษ เช่น การใช้โมเด็มติดต่อผ่านคู่สายสัญญาณโทรศัพท์  เป็นต้น
3.  ประเภทของเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เครือข่ายสื่อสารของคอมพิวเตอร์อาจมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กอาจเป็นรูปแบบ
ส่วนบุคคลหรือสาธารณะ  และอาจจะเป็นแบบไร้สายหรือใช้สายหรือใช้ทั้งสองแบบร่วมกัน ในทำนองเดียวกันเครือข่ายขนาดเล็กอาจจะมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายขนาดใหญ่   เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้งานในปัจจุบันสามารถแยกได้ 3 ประเภทใหญ่ ดังนี้
3.1  เครือข่ายแลนหรือเครือข่ายบริเวณเฉพาะที่ (LAN  หรือ  Local Area  Network
เป็นเครือข่ายที่นิยมใช้ภายในสำนักงานอาคารเดียวกัน และองค์กรที่อยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้กัน เป็นเครือข่ายระยะใกล้ การเชื่อมต่อสามารถใช้สายเคเบิล สายโคแอกซ์ หรือสายเส้นใยแก้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรและสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้ ตัวอย่างของเครือข่ายนี้ได้แก่ เครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัย โรงเรียน และบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ

3.2  เครือข่ายแมนหรือเครือข่ายบริเวณนครหลวง  (MAN  หรือ  Metropolitan  Area  Network) เป็นเครือข่ายที่มีการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ที่อยู่ในเขตเมืองเดียวกัน เป็นเครือข่ายขนาดกลางที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนของเมืองนั้นหรือเขตการปกครองนั้น  เช่น  เครือข่ายของรัฐต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกา
3.3  เครือข่ายแวนหรือเครือข่ายบริเวณกว้าง  (WAN  หรือ  Wide Area Networkเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกันในระยะไกล คลอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ระหว่างประเทศ หรือทั่วโลก โดยอาศัยอุปกรณ์ดาวเทียม สายเส้นใยแก้วนำแสง
หรือคลื่นไมโครเวฟ เป็นตัวกลางในการสื่อสารระบบเครือข่ายประเภทนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ที่มา :  ถวัลย์วงศ์   ไกรโรจนานันท์ , รศ.ดร และคณะ.  หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้
         พื้นฐานและเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานพื้นฐานอาชีพ  ช่วงชั้นที่ 3 
         เทคโนโลยีสารสนเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น